สิ่งที่ควรรู้ ก่อนย้ายไปประเทศบาห์เรน

ชีวิตความเป็นอยู่ในประเทศบาห์เรน บทสัมภาษณ์น่าอ่านจากคนไทย

บทสัมภาษณ์นี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการชีวิตความเป็นอยู่ในประเทศบาห์เรน ซึ่งผมหวังว่าจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับคนที่สนใจ

บทสัมภาษณ์ (1)

คุณ Yuisosweet

อาศัยอยู่ที่: เมือง มานามา (Manama) ประเทศบาห์เรน

มาจาก:ชัยภูมิ

บทสัมภาษณ์ผู้หญิงไทยที่ย้ายไปอยู่ยังต่างประเทศ ครั้งนี้ผมอยากจะแนะนำให้คุณรู้จักกับผู้หญิงไทยที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ยังประเทศบาห์เรน เธอคือ คุณ Yuisosweet และนี่คือ มุมมอง ประสบการณ์ และคำแนะนำที่เป็นประโยชน์สำหรับการใช้ชีวิตในประเทศบาห์เรน

ในมุมมองของคุณ คุณคิดว่ามันยากไหมสำหรับการที่คนไทยต้องปรับตัวไปใช้ชีวิตแบบคนบาห์เรน แล้วถ้ามันยาก มันยากยังไง และอะไรเป็นเรื่องที่ปรับตัวยากที่สุด ช่วยบอกเราได้ไหมครับ

มันยากตรงเรื่องอาหารการกินค่ะ มันมีกลิ่นเครื่องเทศแขก รสชาติไม่อร่อย ส่วนมากคนไทยต้องซื้อผัก เนื้อสัตว์มาปรุงทำกินเอง

ยากเรื่องอากาศที่ร้อนมากๆ ทำให้ต้องใช้ชีวิตในห้องที่มีแอร์ตลอด

ยากเรื่องการเดินทางเพราะที่บาห์เรนไม่ค่อยมีคนเดินตามท้องถนน จะเดินทางเลยต้องใช้บริการรถแท็กซี่ ซึ่งมันแพงมาก
เรื่องการแต่งตัวก็ต้องแต่งมิดชิด และไม่มีวัดสำหรับทำการพุทธศาสนา มีแต่มัสยิดสำหรับชาวมุสลิมเท่านั้น

จริงๆแล้วการใช้ชีวิตที่นั่นจะยากช่วงแรกๆเท่านั้น แต่พออยู่นานๆไปก็จะชินเอง

คนไทยในต่างแดน:จากชัยภูมิสู่มานามาประเทศบาห์เรน

บทสัมภาษณ์ (2)

คุณ Nadia

อาศัยอยู่ที่: เมือง Sanad ประเทศบาห์เรน

มาจาก: กรุงเทพ

บทสัมภาษณ์ผู้หญิงไทยที่ย้ายไปอยู่ยังต่างประเทศ ครั้งนี้ผมอยากจะแนะนำให้คุณได้รู้จักกับผู้หญิงไทยที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ยังประเทศบาห์เรนและประเทศเลบานอน เธอคือคุณ Nadia และนี่คือ มุมมอง ประสบการณ์ และคำแนะนำที่เป็นประโยชน์สำหรับการใช้ชีวิตในประเทศบาห์เรนและประเทศเลบานอน

ในมุมมองของคุณ คุณคิดว่ามันยากไหมสำหรับการที่คนไทยต้องปรับตัวไปใช้ชีวิตแบบคนบาห์เรน /เลบานอน แล้วถ้ามันยาก มันยากยังไง และอะไรเป็นเรื่องที่ปรับตัวยากที่สุด ช่วยบอกเราได้ไหมครับ

ดิฉันคิดว่าการปรับตัวทุกที่ยากหมด อาจจะต่างกันมากน้อยเพียงใด ระยะเวลานานเท่าไหร่ถึงจะปรับตัวได้ ขึ้นอยู่กับหลายๆองค์ประกอบ เช่น วัฒนธรรม ภาษา สภาพภูมิอากาศ สถานที่ อัตราค่าเงิน ความปลอดภัย อาหาร ระบบระเบียบกฎหมาย สำหรับดิฉัน ณ เวลานี้สามารถบอกได้เป็น สองส่วนก่อนว่าด้วยเรื่องทั่วๆไปและเรื่องที่สองลึกลงไปอีกเกี่ยวกับไปถึงนิสัยใจคอคน วัฒธรรมและข้อกฏหมาย เรื่องทั่วๆเช่น เกี่ยวกับอากาศ ที่นี่ถือว่าอากาศกำลังดี ไม่ร้อนเหมือนบาห์เรน ภูมิประเทศมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติเยอะกว่าบาห์เรนแน่นอน แต่การเดินทางค่อนข้างใช้เวลานานและไม่ค่อยมีถนนที่สะดวกอย่างเช่นที่ไทย ไม่มีรถไฟฟ้า หรือใต้ดินหรือทางด่วนมอเตอร์เวย์ตัดผ่าน บวกกับการขับขี่รถที่ไม่เป็นระเบียบของเลบานอนถ้าเทียบกับที่บาห์เรน ไหนจะขึ้นเขาที่คดเคี้ยวด้วยภูมิประเทศเป็นเขาด้วย เรื่องของอาหารส่วนใหญ่ หรืออาหารอารบิกก็จะมีใกล้เคียงกันบางอย่างเหมือนที่บาห์เรน แต่ที่เลบานอนจะขึ้นชื่ออาหารบ้านเค้าหลายชนิด เช่นพวกสลัดผักต่างๆ หรือถั่วบดฮัมมูส แต่สำหรับดิฉันแล้วก็จะทานได้อยู่ไม่กี่อย่าง ส่วนใหญ่คนไทยเราก็จะรู้ๆกันค่ะว่าต้องทานรสจัดกลมกล่อมสไตล์คนไทย ถ้าถามว่าที่นี่ร้านอาหารไทยค่อนข้าหายากมากๆค่ะ บางเมนูถ้าจะอยากทานจริงๆจะแฝงตามร้านอาหารจีนหรือญี่ปุ่นของที่นี่ แต่รสชาติเรียกว่าแค่ใกล้เคียงดีกว่า ไม่ร้อยเปอร์เซนต์ เครื่องปรุงวัตถุดิบบางชนิดจะหายาก

แต่ถ้าเป็นที่บาห์เรนขอบอกได้เลยค่ะว่าคนไทยจะไม่อดตายอยากได้หาสิ่งไหนมีหมดคนไทยถึงเข้ามาอยู่เยอะและสินค้านำเข้าจากไทยเยอะมากอาจจะแพงหน่อยแต่อิ่มก็ใช้ไปได้นานค่ะ จิ้มจุ่ม หมูกะทะ อีกทั้งร้านอาหารฝีมือรสชาตินี่คือ Original ของแท้ แต่คือมาที่เลบานอนตอนแรกที่มาทำงานที่โรงแรมนี้จะมีอาหารสำหรับพนักงาน แรกๆนี่จะทานแต่ผัก เพราะยังไม่รู้จักร้านค้าอะไรมากมายที่พักก็ไม่มีอะไรให้เลยอุปกรณ์การทำอาหาร ซึ่งตรงนี้ต่างจากที่บาห์เรนครั้งแรกที่เข้ามามาก ถ้าทานทุกวันนี่คงจะเป็นม้าเป็นวัวแน่เลย!!! คือหาของไทยยากมาก ซึ่งก็มีผลต่อการดำรงค์ชีวิตค่ะ แต่ด้วยความอยู่รอดคนไทยเราก็หาเอาเท่าที่หาได้แล้วมาประยุกต์เอาค่ะ อาจจะมีรสแปลกๆไปบ้างแต่ก็ให้ผ่าน ค่าแท็กซี่ที่เลบานอนจะแพงมาก แพงกว่าบาห์เรน ปกติดิฉันก็คิดว่าที่บาห์เรนแพงกว่าบ้านเราที่ไทยแล้ว พอมาที่นี่ยิ่งแพงเข้าไปอีก สมมุติจะเข้าเมืองไปกลับถ้าที่บาห์เรนก็จะตกราวๆ 5 -6 dinar bahrain หรือราวๆ 500-600 ไทยบาท ( 1 BHD = 87 THB ถ้าเป็นเมื่อครั้งก่อนการประท้วงที่บาห์เรนปี 2011 ค่าเงินจะดีมาก 1 BHD=95 THB ) แต่ถ้าเป็นที่เลบานอนในระยะทางระยะเวลาเท่ากันก็จะเพิ่มขึ้นมาราวๆ 45,000 – 50,000 เลบานิสปอนด์ /30-35 $ หรือราวๆ 900-1,000 ไทยบาท ที่เลบานอนจะสามารถใช้เงินบ้านเค้าร่วมกับดอลลาห์ใช้จ่ายได้ด้วยกันซึ่งมีอัตราล็อคค่าเงินอยู่แล้ว ( 1$ = 1,500 LBP / 10$ = 15,000 LBP / 100$ = 150,000 LBP) คิดเปรียบเทียบง่ายๆค่ะ เลขเยอะเหมือนจะรวยเลยใช่ไหมคะ!!?? 1,500 LBP = 30 THB เวลาจะซื้อของก็คำนวนกันเป็นอย่างๆไปค่ะ แต่เรื่องอัตราราคาน้ำมันโซนประเทศแถบนี้จะถูกกว่าบ้านเราเยอะค่ะ ตอนที่ดิฉันอยู่บาห์เรนเวลาเช่าขับรถไปเติมน้ำมันก็อยู่ที่โมเดลของรถแต่ละรุ่นว่าถังน้ำมันใหญ่ไหม สมมุติถ้าเป็นโตโยต้า โคโรล่าถังใหญ่เต็มถังก็อยู่ที่ 5 dinar หรือ 500 บาทประมาณ หรือถ้าเป็นพวกรถขนาดกลางถึงเล็กเติมแค่ 3 dinar หรือ 300 บาทก็เอาอยู่แล้วค่ะขับได้นานอยู่ถ้าไม่ไปไหนมาก สำหรับที่เลบานอนยังไม่เคยลองขับเพราะด้วยความที่เราไม่มั่นใจถนนหนทางบ้านเค้าแต่ก็สังเกตุเวลาแท็กซี่เค้าแวะจอดก็ราคาไม่ต่างกันมากค่ะ อ้อลืมบอกอีกเรื่องเกี่ยวกับการสอบใบขับขี่ ที่บาห์เรนเป๊ะมากค่ะ ละเอียด ครูบาห์เรนจะเป็นครูที่ทำงานร่วมกับตำรวจจราจรและเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ สอนแค่ที่เดียวไม่ได้เป็นแบบที่เมืองไทยมีโรงเรียนสอนขับยิบย่อย ต้องกำหนดเวลากับครูให้แน่เพื่อเร่งเรียนให้จบชม. และให้ทันเพราะครูจะมีลูกศิษย์เยอะมากรออยู่ ถ้าเราสอบผ่านก็ดีไปแต่ถ้าสอบไม่ผ่านจะต้องมาเรียนเพิ่มใหม่ตามที่ตำรวจจราจรมากำหนดเพิ่มชม. ทำให้เราต้องต่อคิวเสียเวลาไปอีก อยู่ที่จังหวะนักเรียนด้วยว่าเยอะมากน้อยแค่ไหน และค่าเรียนขับรถก็แพงค่ะแต่อาจจะไม่เท่า โซนยุโรป

การเรียนขับรถที่บาห์เรนก็ตกราวๆ 150 BHD ถ้าสำหรับคนสอบไม่ผ่านก็ต้องลงทะเบียนขอสอบเพิ่มเวลาไปอีกเรื่อยจนกว่าจะผ่าน สำหรับดิฉันตกครั้งเดียวค่ะยังโชคดีไม่เสียเวลาไปมากกว่านี้

ส่วนที่สองนะคะตรงนี้แหละจะช่วยระบุเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับตัวยากง่าย นิสัยใจคอคน วัฒนธรรม ข้อกฏหมาย มันอาจจะมีบางจุดที่ดูโหดร้ายบ้าง แต่ก็ต้องปรับเพื่อความอยู่รอดและฝึกปฏิบัติทางใจเพิ่มด้วย

อย่างที่ดิฉันเคยเล่าครั้งเบื้องต้นที่เข้ามาอยู่บาห์เรนว่าเจออะไรใครที่ช่วยเหลือเราบ้าง และทำไมที่เค้าว่าเค้าห้ามไม่ให้มาเลบานอนหรือสถานฑูตปล่อยคนไทยเข้ามายากเพราะอะไร แต่การเข้ามาเลบานอนครั้งนี้ต่างจากบาห์เรนค่ะ ดิฉันยังคงเจอทีมงานคนไทยชุดเก่าอยู่บ้าง แต่… ไม่มีใครเก่งภาษาสื่อสารอะไรได้เลยเหมือนที่บาห์เรนครั้งแรก แล้วพวกเค้ามามีแต่ความรู้มีแค่นวดไม่เข้าใจการสปา ไม่รู้ตาสีตาสาแบบต้องผ่านเอเจนซี่เสียค่าหัวกัน เสียรู้ ไหนจะการปิดกั้นทางความคิดเห็นกับคนที่นี่จะลำบากอยู่หน่อย เจ้านายบอกว่าห้ามยิ้มให้คนถือว่าเป็นการเชื้อเชิญฉันท์ชู้สาว เราก็คนไทยมารยาท land of smile ใช้ไม่ได้กับที่นี่ ต่างจากที่บาห์เรนซึ่งอิสระกว่านี้มากแต่เคารพกันและกัน แต่เราก็ต้องทำตาม โอ่…แล้วเรื่องที่พักนี่ต่างจากที่บาห์เรนมากค่ะที่บาห์เรนจะดีกว่า บริษัทจะใส่ใจกว่า เราสามารถรู้สึกได้ว่าทำไมเค้าทรีทกับคนนอกแบบนี้หรือ เราเองก็สงสารเพื่อนร่วมงานเราชุดแรกที่อดทนอยู่มาก่อนดิฉันหน้านี้ ถึงต่อให้เค้าจะไม่รู้ภาษาแต่เราก็รู้สึกได้ว่าเค้าก็ไม่ได้มีความสุขค่ะมันเป็นเรื่องสัณชาตญานของ Humanity ways ไปโดยปริยาย ทีนี้สิค่ะพอเข้ามาก็ต้องทำงานให้ครบสัญญาบอกกับตัวเองอีก “งานเข้าแล้ว!! จะไหวไหมเนี่ย” แล้วนี่คือการทำงานกับทีมงานเลบานิสชุดใหญ่ ซึ่งส่วนตัวเคยทำงานเจอมาบ้างที่บาห์เรนแต่จะมีความสากลกว่าไม่เยอะเท่าที่นี่แน่นอนค่ะ บางทียังไม่ค่อยมีความเจริญทางความคิดบางด้าน เพราะเค้าอาจจะถือด้วยว่าบ้านเมืองเค้ามีอารยะธรรมแบบนี้มานาน “จุดแหล่งกำเนิดแห่งมนุษยชาติของโลก” แล้วพื้นฐานคนที่นี่รูปร่างหน้าตา สวยหล่อ คล้ายยุโรป แต่ค่อนข้างหยิ่งและหัวสูงมากๆค่ะ ยิ่งถ้าเป็นชาติอื่นที่เข้ามาเป็นแรงงานจะกดขี่มาก หรือแรงงานจากซีเรียที่อพยพเข้ามาอยู่ เพราะเคยมีเพื่อนที่เป็นอาหรับที่บาห์เรนก็เคยบอกเตือนมาขนาดคนแขกกันยังรู้สึกกันได้ คนดีก็มีนะคะแต่ต้องเป็นคนที่เค้าเคยไปเที่ยวเอเชีย ไปไทยหรือรู้จักไทยอย่างแท้จริงคนที่เปิดกว้าง แต่จะส่วนน้อยมากค่ะ ดิฉันพอจะเข้าใจว่าบ้านเมืองเค้าผ่านการทำสงครามมา เกิดความแตกแยกในหมู่คณะหรือศาสนาซึ่งเป็นคนเลบานิสกันเอง ไหนจะคนอพยพมาจากซีเรีย ปัญหาแตกแยกทางการเมืองคอรัปชั่น ที่ดิฉันเคยฟังความคร่าวๆจากแท็กซี่คนเลบานิสระบายความในใจบ้านเมืองเค้า พอดีเป็นจังหวะเลือกตั้งที่ผ่านมาเค้าก็บอกว่าที่นี่จะตั้งรัฐบาลขึ้นมามีผู้นำทีตั้ง 3 คน ประธานาธิปดีศาสนานึง นายกอีกศาสนานึง ไหนจะอีกคนมีแตกออกมาอีกนิกายนึง ซึ่งเยอะมากเกินความจำเป็น เราก็ได้แต่ฟังค่ะ มันก็คงมีผลสำหรับบ้านเมืองเค้า บางพวกเค้าจะไม่ค่อยเปิดรับชาติอื่นมากเท่าไหร่ที่เข้ามาทำงานหรืออยู่ในประเทศเค้า ใครเจอนายจ้างดี ดีไปค่ะ ถ้านายจ้างบางบ้านนี่กดขี่พวกแม่บ้านพ่อบ้านคนดำโซนแอฟฟริกันที่เข้ามาทำงานด้วย ดิฉันเจอแบบนี้แล้วบางทีก็นับถือใจพวกเค้ากันมากที่อดทนกับสถานการณ์ต่างๆ แม้แต่เพื่อนร่วมงานคนไทยหรือแม้แต่ดิฉันเองที่ต้องเจอระบบสองมาตราฐาน คือ ฉันทำได้แต่พวกเธอห้ามทำ ( คนชาติอื่น ) ต้องขอบอกไว้ก่อนด้วยว่าการที่เราจะเข้ามาอยู่กับคนโซนนี้ต้องทำใจค่ะ นิสัยแขกอาหรับจะไม่ค่อยแอคทีฟอะไรที่เป็นเนื้องานจริงเท่าไหร่พูดง่ายๆขี้เกียจค่ะ จะติดไปทางรักสวยรักงามสร้างอิมเมจเยอะ แต่ผู้ชายเลบานอนตอนแรกที่เจ้านายบอกไม่ให้ยิ้ม มันก็เป็นบางกลุ่มแต่ระวังไว้ก็ไม่เสียหาย นิสัยจริงๆผู้ชายที่นี่เทคแคร์ผู้หญิงดีมาก รักครอบครัวมีบ้างที่เค้าอาจจะบ่นผู้หญิงบ้านเค้าว่าค่อนข้างเยอะ อย่างคนเอเชียจะแอคทีฟและทำงานตั้งใจดีกว่าการใส่ใจแม่บ้านจะดีกว่า ที่บาห์เรนก็มีบ้างแต่จะไม่มีเหยียดคนเท่าที่เลบานอนค่ะ คนบาห์เรนจะรักคนไทย อยู่กันง่ายๆบางทีหน้าตาก็คล้ายทางคนใต้ที่ไทยค่ะและมีความกันเองกว่า ความเคารพคนจะดีกว่า บางคนพูดไทยคล่องมากค่ะ เพราะมีภรรยาเป็นเจ้าของร้านอาหารไทย ช่วยกันทำมาหากินส่งอาหารเดลิเวอรี่

อีกเรื่องค่ะเกี่ยวกับการทำบัตรประจำตัวพลเมือง Resident permit card ทุกคนที่เข้ามาจะต้องมารายงานตัว ที่บาห์เรนทำงานง่ายกว่าค่ะเป็นระบบรวดเร็วไม่มีนอกใน และไม่ต้องมาหลายรอบ ลงทะเบียนคิวออนไลน์ล่วงหน้าสามวันไปถึงรับบัตรคิว พกโทรศัพท์เข้าไปได้ ตรวจสุขภาพ ถ่ายภาพ พิมพ์ลายนิ้วมือวันเดียวจบ แค่รอบัตร แต่ถ้าที่กรมตำรวจของเลบานอน Manual ค่ะ อย่างแรกเลยห้ามพกโทรศัพท์อุปกรณ์ทุกชนิด ตำรวจทหารยืนกันหลา! โอ่อะไรจะขนาดนั้นนี่ เท่าที่รู้มาว่าทำไมเค้าไม่ให้พกโทรศัพท์เข้าไปเพราะเค้าต้องการเป็นความลับของราชการ การชำระจ่ายต่างๆ ขอบอกว่าวีซ่าที่นี่แพงมาก มากกว่าบาห์เรนค่ะ มาถึงกดบัตรคิวก็ไม่มีประโยชน์ค่ะ เครื่องเปิดมีเสียงเรียกนัมเบอร์ที่เค้าเตอร์ แต่เรียกค้างอยู่เบอร์เดียวมานานกว่าครึ่งชม. แต่จริงๆคือคนเข้าถึงไหนกี่คนต่อกี่คนตั้งนานแล้ว เครื่องกดบัตรคือเปิดไว้กินไฟเฉยๆ ที่เจอก็จะมีทั้งแรงงานเอเชียหรือสาวๆรัสเชียที่ทำงานตามบาร์ ทุกคนต้องมาพร้อมกับผู้ดูแลของสปอนเซอร์ตัวแทนนายจ้าง บางคนก็เดินตามมากะนายจ้างเลย แล้วสถานที่เก่าและแคบมาก คือแบบว่าดิฉันก็ไม่เคยเจออะไรแบบนี้ เหมือนในหนังเลยพวกตำรวจมาตั้งด่านฐานอะไรสักอย่าง เดินไปห้องบัญชาการห้องนี้ห้องนั้นรายงานตัว แล้วต้องมาแบบนี้หลายรอบมากในหนึ่งเดือน เวลาไปตรวจสุขภาพก็ต้องไปอีกโรงพยาบาล ไปแล้วก็รอผลสามวันถัดมาก็ไปอีก พอเสร็จอีกวันไปกรมตำรวจ ไปๆมาๆอะไรแบบนี้เยอะมาก!! คือตอนนี้ค่อยๆเริ่มคิดแล้วล่ะว่าคนจะอยู่ที่นี่ให้ได้ใจต้องแข็งอดทนจริงๆ ต้องเจออะไรอีกหลายๆอย่างที่จะตามมา แต่มันก็มีคนที่เข้ามาลำบากกว่าดิฉันมาแบบไม่มีวีซ่าจะเป็นน้าผู้ชายคนนึงที่มาเป็นช่าง คนสวนบ้านของคนเลบานิส ก็หนีไม่พ้นที่สถานฑูตไทยจะต้องช่วยเหลือ ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็เป็นที่มาที่ไปที่ทำไมถึงบอกว่าสถานฑูตถึงห้ามนักห้ามหนา ปล่อยคนไทยเข้ามายาก ไม่ใช่แค่คิดว่าจะมีผู้หญิงมาขายบริการ หรือบางคนมาแบบโดนกดขี่ข่มเหงทำให้อยู่ยาก หรือบางคนฝืนอยู่เพราะเพียงแค่ว่าทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้วเลยใจจำจอมต้องอยู่

แต่ก็มีหลายคนที่ไม่ประทับใจกับระบบของประเทศนี้ก็กลับถิ่นฐานภูมิลำเนาเดิมหรือย้ายประเทศอีก แต่ถ้าบางท่านก็โชคดีที่มีครอบครัวอยู่แต่งงานกับคนเลบานิสก็จะถือว่าโชคดีค่ะ ยิ่งถ้าครอบครัวยอมรับด้วยยิ่งดี อาจจะทำให้อะไรหลายๆอย่างอยู่ง่ายขึ้นอีกหน่อย ส่วนตัวดิฉันเคยคิดว่าเราอาจจะต้องใช้เวลาปรับตัวอีกเยอะสำหรับที่เลบานอนเพราะมาในฐานะคนทำงาน แต่ด้านนึงที่จะช่วยเราปรับคือการหากิจกรรมสันทนาการไม่ให้เบื่อเช่น ปลูกต้นไม้หน้าระเบียง หาเวลาไปพักส่วนตัวนอกสถานที่จิบกาแฟภาคบ่ายในวันหยุด ถ่ายภาพนอกสถานที่ เพิ่มทัศนคติด้านบวกให้เยอะที่สุดเท่าที่ทำได้เปิดโลกทัศน์ให้มาก ถือว่ามาท่องเที่ยวเอา เพราะมันคือช่วงเวลาที่เหลืออยู่ ดิฉันอาจจะไม่ได้อยู่ที่เลบานอนได้นานเท่าที่บาห์เรนหรือไทย แต่ก็จะพยามสร้างความสุขง่ายให้กับตัวดิฉันเองและคนรอบข้างค่ะ ไม่ใช่ว่าโลกสวย แต่นั่นคือการฝึกสมาธิข่มใจได้ดีอีกทางเช่นกันค่ะ

หอมกลิ่นถิ่นอาระเบีย – บาห์เรนและเลบานอน

บทสัมภาษณ์ (3)

คุณ Nadia

อาศัยอยู่ที่: เมือง Sanad ประเทศบาห์เรน

มาจาก: กรุงเทพ

ผมอยากจะแนะนำให้คุณรู้จักกับคุณ Nadia อีกครั้งหนึ่งครับ ครั้งนี้คุณ Nadia จะมาเล่าถึงประสบการณ์ของเธอเกี่ยวกับการพบเจอวัฒนธรรมที่แตกต่างระหว่างคนไทยกับคนบาห์เรน และเกี่ยวกับการอยู่อาศัย, การทำงาน, การหาความรัก(คู่รัก)ในประเทศบาห์เรน

ตั้งแต่ที่คุณ Nadia ย้ายจากประเทศไทยมาอยู่ที่ประเทศบาห์เรนครั้งแรกมีวัฒนธรรมหรือการปฏิบัติอย่างใดของชาวบาห์เรนบ้างครับที่คุณ Nadia รู้สึกประหลาดใจ ( cultural shock ) ช่วยบอกผมมาอย่างน้อยสัก3 ข้อ

-อย่างแรกที่เห็นได้ชัดคือวิถีความเป็นอยู่ เช่นเสื้อผ้า หน้า ผม ไลฟสไตล์ คือด้วยความที่ครั้งแรกก่อนจะมาบาห์เรนเราเอง Imagineไปเอง คือต้องแต่งรัดกุมมิดชิดมากแบบห้ามเปิดโชว์ผิวหนัง ดิฉันก็เตรียมเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋าแบบเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว แต่พอมาจริงๆคือชิวมากค่ะปกติเลยแต่ก็ไม่ให้น่าเกลียดเกินงาม ถ้าคนพื้นเมืองที่เคร่งๆหรือคนรุ่นก่อนๆก็อาจจะใส่ ชุดที่เรียกว่าโต๊ป (สำหรับผช.) และอาบาย่า (สำหรับผญ.) แต่คือด้วยความที่ว่าบาห์เรนเคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษมาก่อนก็ยังมีความเสรีตรงนี้บ้างถ้าเทียบกับประเทศข้างเคียงอื่นๆเช่นซาอุ , กาตาร์,คูเวต, อบูดาบี, โอมาน ที่ยังเคร่งศาสนามากๆ คือคนรุ่นใหม่ๆก็ยังพอแต่งตัวปกติ กางเกงยีนต์เสื้อยืด แต่ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะทับซ้อนอาบาย่าไว้คลุมอีกที หรือถ้าไม่คลุมอาบาย่าก็จะต้องใช้ผ้าคลุมศรีษะอีกที และด้วยความที่ว่าอาจจะยังเป็นโซนแหล่งคนเข้ามาทำงานเยอะมีหลากหลายเชื้อชาติก็แต่งตัวได้ตามปกติ แต่ก็ให้อยู่ในกาลเทศะเข้าไว้

-อย่างที่สอง ก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทศกาลตามหลักศาสนาหรือสิ่งที่ควรกระทำควรทราบไว้ต่อเนื่องจากข้อแรก อย่างที่ได้บอกไปการแต่งกายจะมีข้อห้ามที่จะเคร่งขึ้นมาอีกคือช่วงถือศีลอด รามาดานของคนที่นี่ ถ้าเป็นช่วงนี้ขึ้นมาปุ๊บเป็นอันรู้กันเคารพกฏบ้านเมืองการแต่งกายของคนชาติอื่นที่มาอาศัยประเทศบาห์เรนทั้งไทย, เอเชีย , ยุโรปหรืออเมริกา เราก็ควรให้เกียรติด้วยการใส่เสื้อผ้าที่ไม่โชว์เนื้อหนังมังสาในช่วงเวลาระยะนี้ ไม่ควรนุ่งสั้น ถ้าเป็นผู้หญิงควรเลยมาจากหัวเข่าหรือไม่ใส่เสื้อล่องเนินอกลึกหรือคอกว้างเกินไป และยิ่งถ้าเดินอยู่ระหว่างท้องถนนควรงดเครื่องดื่ม อาหาร น้ำทุกชนิดระหว่างวันในที่สาธารณะ จนกว่ากำหนดเวลาตามหลักศาสนาสามารถให้กินได้ปกติ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้คนชาติอื่นหรือศาสนาอื่นทาน อาหาร น้ำ ตามชาวมุสลิมที่นี่ เพียงแต่ให้ทานในบ้านหรือพื้นที่หลีกเลี่ยงที่แจ้ง ไม่ให้คนถือศีลอดเห็น เป็นการให้เกียรติ ชาวมุสลิมที่กำลังถือศีลอยู่ เคยมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับดิฉันเกิดจากที่ลืมค่ะ! ไม่ได้ดูเวลาด้วยว่ายังไม่หมดเวลาถือศีลระหว่างวัน ตอนนั้นดิฉันเดินถือขวดน้ำดื่มเผลอยกขึ้นมาดื่ม!! โชคดีนั่นยังใกล้ๆที่ทำงานแถวสนามบิน ซึ่งก็มีรถตำรวจผ่านย่านนั้นบ่อย พอดีฝ่ายบุคคลขับรถผ่านมาเลยเรียกเตือนก่อน เพราะถ้าเราเดินออกไปไกลกว่านี้โดนตำรวจเรียกแน่ๆค่ะ ถือว่าเราไม่ให้เกียรติบ้านเมืองเค้าในช่วงถือศีล ตกใจนิดนึงรู้สึกว่าเกือบไปแล้ว!

-อย่างที่สามคือต่อเนื่องจากข้อที่สองอีกเช่นกันค่ะ จะมีเทศกาลอีกหลายๆเทศกาลที่แปลกๆอยู่ เช่น Ashura Day หรือวัน Muharram Day ซึ่งจริงๆก็มีอยู่ประเทศอื่นๆที่เป็นมุสลิมด้วย คือเท่าที่จำได้เป็นเทศกาลรำลึกถึงบุคคลสำคัญในศาสนา ต้องไปเสิรช์เพิ่มเติมดูแล้วกันนะคะ แต่คือคร่าวๆการแสดงออกของวันนี้คือจะต้องมีตัวแทนออกมาทำพิธีและมีการทรมานร่างกายให้มีเลือดออกมาหรือทำให้ตัวเองเจ็บตัว บ้างก็จะเดินเป็นขบวนและทุบอกตนเองขบวนก็จะเป็นผู้ชายส่วนใหญ่ซะมากกว่า อารมณ์คล้ายเทศกาลกินเจทางบ้านเราที่ไทยต้องมีตัวแทนแสดงตนความเคารพ ตามความเชือศาสนาเค้า ดิฉันเคยเห็นขบวนมาบ้างเฉพาะตำแหน่งที่จัดงานจัดสถานที่แต่ไม่เคยเห็นตัวแทนที่ยอมเจ็บตัวเอาเลือดออกมาค่ะ หวาดเสียวอยู่ แต่หลังจากนั้นคนๆนั้นก็ปกติ แค่เป็นเพียงพิธีเท่านั้นช็อคไหมคะ ส่วนเทศกาลที่ดีๆสวยงามก็มีค่ะเช่นวันชาติของบาห์เรนจะมีหลักๆสองวัน แต่ก่อนวันชาติเป็นเดือนเลย ผู้คนจะประดับธงทุกๆอาคารบ้านเรือนรวมไปถึงประดับไฟตามสีธงชาติ บางที่ประดับทั้งตึก สวยงามมากเวลาไฟกระพริบ หน่วยงานรัฐเอกชนที่นี่พร้อมใจประดับไฟ ธง แล้วผู้คนต่างๆ ครอบครัว หนุ่มสาววัยรุ่นจะพร้อมใจกันขับรถออกมาบีบแตรเสียงดังทั่วเมืองไปหมด ตรงนี้บ้านเราอาจจะทำแบบนั้นไม่ได้แน่ บางแห่งจะนิยมนำรถสมัยเก่ารุ่นเก่ายุควินเทจมาแสดงโชว์เป็นนิทรรศการรถยุค 60′-80′ บ้างก็ขับกันมาจากประเทศรอบข้าง แต่ดูๆคนที่นี่ก็มีความสุขดี เราก็รู้สึกสนุกไปด้วยค่ะ

วิถีที่แตกต่างของตะวันออกกลาง – บาห์เรน

 

เพิ่มเติม

ชีวิตหญิงไทยในต่างแดน เฟสบุ๊คเพจ 

Advertisement

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s